ปีหมูที่ไม่หมูๆ

happy-new-year-the-year-of-pig-png_5823

สวัสดีปีใหม่ 2562 ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านนะคะ ยอมรับว่าปล่อยให้บล็อกนี้ร้างมานานมากกกกก ด้วยข้ออ้างที่ว่า ยุ่งจนไม่มีเวลา แต่จริงๆแล้วถ้าต้องการจะหาเวลาจริงๆ ก็ย่อมจะมีแน่ๆ อาจจะด้วยอารมณ์นักเขียนที่จู่ๆ ก็พลุ่งพล่านด้วยล่ะมังคะ ก็เลยอยากจะเข้ามาอัพเดตบล็อกสักหน่อย หวังว่าจะยังพอมีคนเข้ามาอ่านอยู่บ้างนะคะ

พูดถึงหมู ดูแล้วก็เป็นสัตว์น่ารักๆ ตัวกลมๆ สีชมพูๆ และยังเป็นรูปแบบคลาสสิกของกระปุกออมสินอีกด้วย สำหรับคนอิตาเลียนแล้ว หมูมักถูกเปรียบเปรยกับคนสกปรก ไม่มีวินัย บ้านช่องที่ไม่เป็นระเบียบก็จะถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนเล้าหมู แต่คนอิตาเลียนมีอาหารรสโอชะที่ทำมาจากเนื้อหมูอยู่หลากหลายชนิดเลยทีเดียว เช่นขาหมู ซึ่งเป็นอาหารที่จะทานกันในวันปีใหม่ตามประเพณี แฮมชนิดต่างๆ ซาลามี่ ไส้กรอกอิตาเลียน (salsiccia) ล้วนเป็นอาหารที่คนอิตาเลียนทานกันยามว่าง หรือในมื้อเร่งด่วน เพราะไม่ต้องปรุงไม่ต้องทำอะไรมาก จะว่าไปแล้วก็น่าสงสารน้องหมูอู๊ดๆ จังค่ะ

สำนวนไทยเรานั้น คำว่า “หมูๆ” บ่งบอกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในภาษาอิตาเลียนนั้น ถ้าบอกว่า maiale maiale (ไม-ยา-เล่ ไม-ยา-เล่) ซึ่งแปลตรงๆว่า หมูๆ ก็จะไม่มีใครเข้าใจคุณ หรือไม่อีกทีอาจจะทำให้คิดไปว่าคุณไปด่าว่าเขาว่าสกปรกเหมือนหมู หรืออ้วนเหมือนหมูไปซะ คำว่าหมูสำหรับคนอิตาเลียนแล้วถือว่าเป็นคำดูถูกมากด้วยค่ะ เขาจะไม่คิดว่ามันน่ารัก เพราะฉะนั้น เลี่ยงการเปรียบเทียบกับหมูจะดีที่สุดนะคะ

ถ้าคุณอยากจะบอกว่า “มันง่ายแค่เนี้ย” คนอิตาเลียนเค้าจะใช้สำนวนว่า “ง่ายเหมือนดื่มน้ำหนึ่งแก้ว” (facile come bere un bicchier d’acqua) หรือจะเปรียบเทียบว่า “เหมือนเกมเด็กๆ” ง่ายจริงๆ เลย ยังกะเล่นเกมของเด็กๆ แหน่ะ! (gioco da ragazzi) แต่ละชนชาติก็ใช้การเปรียบเทียบต่างกันออกไป เช่นในภาษาอังกฤษ ก็จะว่าง่ายเหมือน a piece of cake ใช่ไหมคะ ภาษาไทยเราก็มีการเปรียบกับอาหารอยู่เหมือนกัน ตามสำนวนที่ว่า “ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก”

ตอนเริ่มโพสต์นี้ก็นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี ไปๆ มาๆ เลยเอาเรื่องของหมูมาเล่าสู่กันฟังซะเลยค่ะ ก่อนจากกันไป ขออวยพรผู้อ่านทุกท่าน ให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่มีแต่ความสุข มีกินมีใช้ ไม่ว่าสิ่งใด ก็ขอให้เป็นเรื่องง่ายๆ แบบหมูๆ เลยนะคะ

 

เข้าปากหมาป่า วิธีแก้เคล็ดของคนอิตาเลียน

lupo

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอขอบคุณพี่ที่น่ารักท่านหนึ่งที่ตั้งคำถามมา ทำให้ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้ ในโลกนี้ก็คงจะมีสำนวนต่างๆกันไปในแต่ละภาษาตามวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศนั้นๆ ถ้าเราไม่รู้จักขนบธรรมเนียมของประเทศนั้นดี เราก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจความหมายของสำนวนหรือสุภาษิตของเขาได้ และไม่ทราบว่าจะพูดได้เมื่อไหร่บ้าง วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำสำนวนการอวยพรในภาษาอิตาเลียนที่ต้องการจะสื่อว่า “โชคดีนะ” แต่โดยมากคนอิตาเลียนจะไม่อวยพรกันตรงๆว่า “ขอให้โชคดี” ในทางตรงกันข้าม คนที่ถือเคล็ดมากๆจะไม่พอใจด้วยซ้ำ หากเราไปอวยพรเขาให้โชคดี เอ๊ะ แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ล่ะ ผู้เขียนขอออกความเห็นส่วนตัวว่า เพราะคนอิตาเลียนมักมีความตลบตะแลง พลิกแพลงอยู่เสมอๆ (ไม่ได้แอบเหน็บนะคะ!!) เรื่องนี้สมัยก่อนผู้เขียนก็งงๆ แต่พออยู่ใกล้ชิดคนอิตาเลียนไปนานๆก็เริ่มเข้าใจในการพลิกแพลงของพวกเขา ผู้เขียนจะยกตัวอย่างง่ายๆให้ฟัง แมวดำนั้นถูกจัดให้เป็นตัวนำโชคร้ายใช่ไหมคะ เช่นถ้าขับรถออกมาแล้วเจอแมวดำข้ามถนน บางคนถึงกะเลี้ยวกลับเปลี่ยนเส้นทางหรือกลับเข้าบ้านแล้วค่อยขับออกมาใหม่กันเลย ทำให้เข้าใจได้ว่าสำหรับพวกเขาแล้ว แมวดำถือว่านำความซวยมาให้ แต่มักมีคนห้อยจี้แมวดำโดยบอกกับผู้เขียนว่า ใส่ไว้เป็นเครื่องลางกันความซวย ผู้เขียนก็งงงวยว่า อ้าว ไหนเธอบอกว่ามันนำความซวยไงล่ะ การอวยพรให้ใครโชคดีก็เช่นกัน เขาไม่อวยพรกันตรงๆว่า “โชคดีนะ” มันตรงเกินไป คนอิตาเลียนจะคิดไปอีกตลบว่า มันกลับจะนำความซวยมาให้ก็ได้ (เริ่มงงแล้วไหมคะ)

“In bocca al lupo!” เป็นสำนวนที่คนอิตาเลียนพูดกันเป็นประจำเมื่อต้องการอวยพรว่า “โชคดีนะ” สามารถแปลแบบตรงตัวได้ว่า “เข้าปากหมาป่านะ” หมาป่าก็เป็นสัตว์ดุร้าย เป็นสัญลักษณ์ของภัย ความอันตราย ความป่าเถื่อน ความไม่เป็นมิตร ดังเช่นในนิทานหลายๆเรื่อง อย่างน้อยก็มีเรือ่งหนูน้อยหมวกแดงที่แสดงอปุนิสัยของหมาป่าให้เห็นชัด ผู้เขียนก็เคยสงสัยว่า ทำไมเราถึงอวยพรคนอื่นให้ไปเข้าปากหมาป่าล่ะ คำอธิบายเท่าที่ผู้เขียนทราบและเคยได้ยินมามีอยู่ว่า สมัยก่อนโน้น ชาวบ้านต้องออกล่าสัตว์เพื่อความอยู่รอด ศัตรูอันตรายของพรานผู้ล่าสัตว์ก็คือหมาป่า การออกล่าสัตว์ต้องใช้ความกล้าหาญมากอยู่ เมื่อพรานจะออกล่าสัตว์จึงต้องการคาถาหรือเวทมนต์อะไรสักอย่างที่สร้างความขลังและเป็นสิ่งป้องกันตัว “In bocca al lupo!” ก็คล้ายกับเป็นบทเวทมนต์คาถา แล้วพรานก็จะตอบว่า “Crepi!” หรือ “Crepi il lupo!” ที่แปลแบบตรงตัวได้ว่า “หมาป่าจงตาย” ต่อๆมา สำนวนนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการให้โชคในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าเด็กนักเรียนจะสอบ คนจะไปสัมภาษณ์งาน ญาติจะต้องไปผ่าตัด หรืออะไรก็ตามที่ต้องการกำลังใจ มีการลุ้น และอาจจะพบกับความอันตรายได้ สำนวนนี้ก็จะถูกนำมาใช้เสมอๆ ผู้อวยพรจะบอกว่า “In bocca al lupo!” หรือ “ไปเข้าปากหมาป่านะ” ผู้ถูกอวยพรก็จะตอบว่า “Crepi!” หรือ “หมาป่าจงตาย” เป็นการแก้เคล็ดนั่นเองค่ะ

 

เมื่อฝรั่งได้เห็นกรอบรูปนั้น…

ผู้เขียนไม่ได้เข้ามาเล่าเรื่องอะไรมาเกือบปีแล้ว ใจจริงไม่ได้อยากปล่อยให้บล็อกนี้ต้องกลายเป็นบล็อกร้าง แต่เนื่องด้วยภารกิจในครอบครัว บวกกับงานเขียนอื่นๆที่ผู้เขียนรับทำอยู่ ทำเอาหาเวลาเข้ามาเขียนโพสต์ใหม่ๆไม่ได้เลย แต่วันนี้ ผู้เขียนต้องหาเวลาเข้ามาเขียนเล่าสู่กันฟังให้ได้สักที สิบเอ็ดวันแล้วที่เมืองไทยอยู่ในความเศร้าโศกอาลัยในการเสด็จสวรรคตของในหลวงที่รักยิ่งของปวงประชาชาวไทย ผู้เขียนเองก็แทบจะไม่ได้ทำอะไรอื่นนอกจากคอยดูการถายทอด ดูคลิปต่างๆ อ่านบทความดีๆ ที่เพื่อนฝูงต่างแบ่งปันกันในโซเชียลเน็ทเวอร์กต่างๆ ด้วยรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ และด้วยความที่คิดถึงพระองค์มาก

คนอิตาเลียนก็รู้จักในหลวง รู้ว่าประเทศไทยเรามีกษัตริย์ แต่ไม่ทุกคนที่รู้จักว่า การปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขของประเทศไทยนั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร บ้างก็เข้าใจอะไรผิดๆ หรือเข้าใจไม่หมด วันนี้ผู้เขียนคงจะไม่กล่าวในเรื่องของการเมืองการปกครอง แต่ตั้งใจจะเล่าถึงปฏิกิริยาของเพื่อนๆและคนรู้จักชาวอิตาเลียนที่ได้มาเห็นภาพในกรอบรูปที่ผู้เขียนติดไว้บนผนังบ้าน กรอบรูปนั้นมีค่าต่อผู้เขียนมาก เมื่อย้ายมาอยู่ประเทศอิตาลี ผูเขียนจึงนำติดตัวมาด้วย นั่นก็คือภาพรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของในหลวง ผู้เขียนมีความโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาศึกษาในรั้วของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรุ่นสุดท้ายที่ทรงพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เอง

เพื่อนชาวอิตาเลียนที่ได้เห็นรูปรับพระราชทานปริญญาของผู้เขียน ก่อนอื่นเลยก็มักจะถามว่า “นี่คือรูปอะไรเหรอ” เมื่อผู้เขียนอธิบายว่า นั่นคือรูปพิธีรับปริญญา ที่เธอเห็นในรูป คือพระมหากษัตริย์ของฉัน คิงของฉันไง แน่นอน ทุกคนมีอาการชะงัก และต้องถามกลับกันทุกรายว่า “ห๊า คิงมาให้ปริญญาเองเลยเหรอ” แต่ละคนจะไม่อยากเชื่อ ที่ไม่อยากเชื่อคงไม่ใช่คิดว่า ผู้เขียนกำลังเล่าเรื่องเท็จหรืออย่างไร แต่เพราะมันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อ ยากที่จะเชื่อนั่นเอง เมื่อผู้เขียนเล่าว่า พระองค์ทรงพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้จบการศึกษาในหลายๆมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลาหลายสิบปีติดต่อกัน ทุกคนก็ต่างตกใจ บ้างก็พูดในทำนองว่า “แล้วทำไมคิงของเธอถึงต้องเป็นคนให้ปริญญาบัตรด้วยล่ะ มันจริงจังมากขนาดนั้นเลยเหรอ” ผู้เขียนได้ทราบมาว่า การรับปริญญาของพวกเขานั้นมักจะมีการฉลองในเชิงหยอกล้อกันเสียมากกว่า ผู้เขียนก็มักจะตอบไปว่า พระมหากษัตริย์ของฉันทรงงานหนักมาก พระองค์ท่านมักจะอยู่ท่ามกลางประชาชน ไปในทุกๆที่ๆยังกันดาร เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนของพระองค์มีชีวิตที่ดีขึ้น ท่านทรงเสียสละพระองค์เองมาก การที่ท่านทรงมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองนั้นก็เช่นกัน พระองค์ทรงอยากให้บัณฑิตมีความภาคภูมิใจ และตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคมเมื่อเรียนจบจากสถาบันต่างๆแล้ว

เป็นเรื่องค่อนข้างยาก (ยากมากเลยล่ะ) ที่จะอธิบายให้เพื่อนชาวอิตาเลียนเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทรงทำ แรกๆตัวผู้เขียนเองก็ออกจะโกรธเล็กน้อยถ้าพวกเขามีสีหน้าแปลกใจ ทำนองว่า มันจำเป็นตรงไหน หรือทำนองว่า โอ้โห มันเรื่องจริงเหรอเนี่ย แต่แล้วผู้เขียนก็คิดว่า คงจะไม่แปลกหรอก พวกเขาไม่เคยมีกษัติรย์ที่ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนอย่างพวกเรา และก็จริงอย่างที่พวกเขาคิด ว่าพระองค์ท่านจำเป็นต้องมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองต์เองด้วยหรือ จริงๆแล้วคงจะไม่จำเป็นหรอก แต่พระองค์ท่านก็ทรงทำมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานมาก จะมีกษัตริย์องค์ไหนในโลกนี้อีกที่ทำแบบพระองค์

 

9 วันก่อนคริสต์มาส

cenone_natale_296_HP

แป๊บๆเดือนนึงๆช่างผ่านไปรวดเร็วเสียจริง มัวแต่เพลิดเพลิน อะไรกันอีกไม่กี่วันจะคริสต์มาสแล้ว ?! ทราบไหมคะว่าการตามล่าหาของขวัญที่ถูกใจญาติสนิทมิตรสหายนี่มันค่อนข้างจะเป็นเรื่องเครียดเลยทีเดียว โดยเฉพาะคนอิตาเลียนเขาไม่ให้ของขวัญกันสุ่มสี่สุ่มห้า ครอบครัวผู้เขียนมีกันอยู่ไม่กี่คน ฉะนั้นความเครียดก็น้อยลงไปตามจำนวน ปีก่อนๆก็จะเน้นของคลาสสิก เช่นเสื้อเชิ้ตเอย เข็มขัดหนังเอย กระเป๋าสตางค์เอย หนังสือเอย ผ้าพันคอเอย ไปเรื่อยๆจนไอเดียวเริ่มหมด ปีหลังๆมานี้ผู้เขียนจึงเปลี่ยนแนวทางในการให้ของขวัญ เพราะจริงๆแล้วบางอย่างเราก็ไม่แน่ใจว่าผู้รับจะชอบไหม ถูกรสนิยมไหม กว่าจะเลือกได้ก็ใช้เวลาน๊านนานค่ะ ส่วนใหญ่ของใช้ส่วนตัวต่างคนก็ต่างซื้อเมื่อต้องการอยู่แล้วใช่ไหมคะ ผู้เขียนจึงเปลื่ยนเป็นให้อะไรขำๆแทน ของขวัญที่ถูกใจอาจจะไม่ใช่ของแพงเสมอไป ส่วนเพื่อนฝูงนั้นออกจะเป็นเรื่องยาก เพราะมีการคำนวนกันอีกว่า เพื่อนคนนั้นมีลูกกี่คน ควรจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพื่อที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้สึกเสียหน้ากันอีก

คนอิตาเลียนนั้นเป็นชนชาติที่มีรสนิยมสูงเสียด้วยค่ะ การฉลองคริสต์มาสในครอบครัวโดยทั่วไป มักจะฉลองกันในบ้าน โดยที่ลูกหลานจะมารวมกันที่บ้านของพ่อแม่ ปู่ย่า หรือตายาย แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าคริสต์มาสมาบ้านนี้ วันถัดมาซึ่งในอิตาลีก็เป็นวันฉลอง Santo Stefano ก็จะไปอีกบ้านนึง และยังมีโอกาสอีกในวันปีใหม่ที่จะไปร่วมฉลองกัน การจัดบ้าน จัดโต๊ะอาหาร ต่างๆนานา คนอิตาเลียนจะดูแลเรื่องรายละเอียดมากๆค่ะ นี่ขนาดยังไม่พูดถึงเรื่องการเตรียมอาหาร ส่วนครอบครัวใหญ่มากๆก็เลือกที่จองร้านอาหารไว้แต่เนิ่นๆ แต่แม่สามีของผู้เขียนมักพูดว่า “คริสต์มาสนอกบ้านสำหรับฉันไม่เหมือนวันคริสต์มาสเลย” คนรักษาธรรมเนียมก็อยากที่จะฉลองกันตามธรรมเนียมนั่นแหละค่ะ แต่สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตในแต่ละปีนั้น ก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่า การฉลองคริสต์มาสนี้ ต้องมีผุ้เสียสละมากอยู่ทุกครา เนื่องจากว่าบ้านเรือนต้องให้เนี๊ยบ ไหนจะเตรียมทำอาหารสำหรับคนกลุ่มใหญ่ อาหารก็ต้องมีตั้งแต่ออร์เดิร์ฟไปจนขนมหวาน พูดง่ายๆว่า ไปจัดบ้านใคร คนนั้นก็จะต้องเหนื่อยมาก พอดีว่าครอบครัวของผู้เขียนในอิตาลีนี้มีกันไม่เยอะ รวมทั้งหมดก็ 7 คน ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือบ่ากว่าแรงนักที่แม่สามีและผู้เขียนจะช่วยกันคนละแรงสองแรงค่ะ ธรรมเนียมของที่นี่ก็มีอีกสิ่งที่ขัดใจผู้เขียน เพราะว่าผู้สูงอายุ โดยปรกติเช่นคุณย่า คุณยายมักจะเป็นผู้ทำและเสิร์ฟอาหาร คนหนุ่มสาวนั้นกลับนั่งทานกันอย่างเอร็ดอร่อยคุยเฮฮาปาร์ตี้กันตามวิสัย สำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นเรื่องปรกติมาก เพราะการไปฉลองที่บ้านของพวกท่านเท่ากับให้เกียรติท่าน ว่ามีลูกหลานมากันพร้อมหน้า และก็ยังเป็นเรือ่งธรรมดาอีกที่ในบ้านของท่าน เราต้องปล่อยให้ท่านทำ เรื่องนี้ผู้เขียนก็ได้แต่ติติงในใจ

สมัยก่อนผู้เขียนก็ยังไม่ทราบธรรมเนียมของคนอิตาเลียนสักเท่าไหร่ ก็มักจะอาสาช่วยนั่นช่วยนี่ จนเพิ่งมาเก็ทว่า อ้อ เวลาเราไปบ้านคนอื่นนั้นควรจะนั่งเฉยๆซะมากกว่าก็ต่อเมื่อครั้งหนึ่ง ญาติหนุ่มคนนึงพาแฟนสาวมาแนะนำตัวที่บ้านเรา ซึ่งมีพ่อแม่สามีของผู้เขียนอยู่ด้วยกัน เราก็เชื้อเชิญให้พวกเขาทานอาหารเย็นด้วยกัน เมื่อถึงเวลาจัดโต๊ะ แฟนสาวของญาติก็เดินเข้าครัวมาช่วยหยิบช้อนซ่อม จานชาม เธอพยายามที่จะช่วยแม่สามีและผู้เขียน สำหรับตัวผู้เขียนนั้นก็คิดว่า เธอน่ารักดี แต่พอญาติและแฟนสาวพากันกลับบ้านไปแล้ว แม่สามีเอ่ยให้ผู้เขียนฟังว่า ไม่ค่อยชอบที่เด็กสาวคนนั้นเข้ามายุ่มย่ามในครัว ผู้เขียนก็ยังไม่เก็ทในตอนแรก ก็ร้องว่า “อ้าว ทำไมล่ะ ฉันว่าเขาน่ารักดีออก” แม่สามีผู้เขียนก็อธิบายให้ฟังว่า “ในบ้านคนอื่นน่ะ เธอควรจะนั่งเฉยๆ อย่างมากก็แค่ถามเป็นพิธีว่า ให้ช่วยอะไรมั้ย ซึ่งปรกติก็จะได้คำตอบว่า ขอให้นั่งสบายๆอย่ากังวล” หลังจากนั้นผู้เขียนก็เริ่มสังเกตการปฏิบัติในครอบครัวต่างๆ ก็พบว่าเป็นเรื่องจริง ขนาดไม่ใช่แขกเหรื่ออะไร แค่ญาติพี่น้องกัน ก็ยังปฏิบัติลักษณะนี้ ผู้เขียนจึงได้ระวังตัวมากขึ้นเวลาไปบ้านใคร เราควรแค่เอ่ยปากว่าให้ช่วยอะไรไหม พอได้รับคำตอบว่าขอให้นั่งให้สบาย เราก็อย่าได้พยายามดึงดันจะเป็นอันดี

ธรรมเนียมเขาช่างต่างกับธรรมเนียมเรา ที่ยังมีสำนวนกล่าวว่า “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นความให้ลูกท่านเล่น” และการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ท่านไม่ต้องทำอะไรมากเป็นสิ่งที่คนไทยเราปฏิบัติกัน อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้ละเลยความเป็นคนไทย จนพ่อแม่สามีเข้าใจธรรมเนียมของเรา เรียกได้ว่าผู้เขียนได้ทำให้พวกท่านซึมซับความเป็นไทยไปบ้าง เราจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกันดีค่ะ

ผู้เขียนถือโอกาสนี้อวยพรให้เพื่อนๆผู้อ่านทุกท่านจงมีแต่ความสุขสำราญใจในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่นี้ด้วยเทอญ

 

 

เที่ยวเมืองสุดยอดหอคอย San Gimignano

หลังจากที่หายหน้าหายตาไปซะนาน ผู้เขียนกลับมาพาเพื่อนๆผู้อ่านไปเที่ยวเมืองโบราณเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาอันสวยงามของแค้วน Tuscany ผู้เขียนได้เอ่ยไว้บ้างแล้วในโพสต์เก่าๆ ว่าเป็นคนชอบเมืองขนาดเล็ก น่ารักๆ ที่แฝงไปด้วยเสน่ห์ แน่นอน ในประเทศอิตาลีมีเมืองโบราณๆเล็กน้อยๆอยู่ทุกหนแห่ง เมื่อเดือนกค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปเที่ยว Florence และ Siena กับครอบครัว และในทริปนี้ ผู้เขียนได้เลือกเที่ยวเมืองขนาดเล็กที่นักท่องเที่ยวไทยไม่น่ารู้จักด้วย เมืองนั้นก็คือ San Gimignano (ซาน จิมิยาโน่) ใครมาเดินเที่ยวที่นี่จะได้ความรู้สึกเหมือนเดินเล่นอยู่ในเทพนิยายยังไงยังงั้นเลยค่ะ

San Gimignano ตั้งอยู่ระหว่าง Florence และ Siena ดังนั้นใครมาเที่ยวแถวๆนี้ถ้ามีเวลาพอก็สามารถแวะเที่ยวที่นี่ได้ค่ะ เมืองเล็กๆแต่ไม่ธรรมดานี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO เริ่มอยากรู้แล้วใช่ไหมคะ ว่ามันไม่ธรรมดาอย่างไร ผู้เขียนจะเล่าเรื่องโดยแทรกภาพประกอบเป็นระยะๆนะคะ เป็นรูปภาพที่ผู้เขียนถ่ายเองด้วยโทรศัพท์มือถือ ก็เลยไม่ค่อยจะดูโปรนักนะคะ

Jpeg

San Gimignano มีประชากรแค่ 7 พันกว่าคน ภาพที่เห็นนี้คือ Historical centre หรือใจกลางเมืองนั่นเองค่ะ ในสมัย Medieval หรือยุคกลาง San Gimignano จัดว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนที่สูง และเทคนิกการสร้างหอคอย ซึ่งมีมากกว่า 70 หอคอย (ปจบ.รักษาไว้ได้ไม่หมดค่ะ) และแผนผังของเมืองนั้นเหมาะต่อการป้องกันข้าศึกศัตรูได้เป็นอย่างดี และยังเป็นจุดรวมของความร่ำรวย การเมืองการปกครอง การค้า จนปจบ.นี้ชาวยุโรปที่มีความสนใจในการสร้างแผนผังเมือง ก็ยังศึกษาเมืองนี้และยกเป็นตัวอย่างของการสร้างเมืองอีก จนได้รับฉายาว่า Manhattan of Medieval

Jpeg

Jpeg

รอบๆใจกลางเมืองโบราณ ดูร่มรื่น เป็นเนินเขาตามสไตล์แคว้น Tuscany ค่ะ

Jpeg

ในใจกลางเมือง ตรอก ซอก ซอยต่างๆเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร บ้านอยู่อาศัย

Jpeg

Piazza della Cisterna (ผู้เขียนขอแปลเป็นไทยว่า จัตุรัสบ่อน้ำ) เป็นสแควร์ใหญ่ ในสมัยก่อนนั้นเป็นจุดศูนย์กลางของชาวบ้านที่จะทำการใดๆก็ตาม สมัยนี้ก็รอบล้อมไปด้วยร้านรวง และในฤดูร้อนจะมีนักดนตรี นักร้องประสานเสียง มาเต้นรำทำเพลงกันสนุกสนานดีค่ะ

Jpeg

Jpeg

Piazza del Duomo เป็นสแควร์ที่มีโบสถ์ มีสถานที่ราชการ ที่ทำการเขต สามารถเข้าชมด้านในได้ค่ะ

Jpeg

Jpeg

Jpeg

จะเห็นได้ว่า ภายในตัวอาคารต่างๆมีภาพวาดสวยงาม เนื่องจากว่าเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญ ร่ำรวย สวยไม่แพ้เมืองดังๆหรือเมืองใหญ่ๆเมืองอื่นเลยค่ะ

Jpeg

เสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองโบราณนี้คือ ด้วยความที่มีคนอยู่อาศัย มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงดูเพลินตามีชีวิตชีวา มีคุณป้า คุณตาคุณยายกวาดหน้าบ้าน นั่งคุยกัน เห็นคนตากผ้าบนราวที่ยื่นออกมาจากหน้าต่าง บนหอสูงๆ ดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบนึงค่ะ เดินเลาะไปตามตรอกซอยเล็กๆน้อยๆ ก็จะเจอมุมเก๋ๆอยู่เรื่อย

Jpeg

นี่ก็เป็นหนึ่งในมุมเก๋ๆในสายตาของผู้เขียน ลอดใต้อุโมงค์มาเจอร้านอาหารสไตล์ผับเล็กๆน่ารักๆนี้ พวกเราก็เลยเข้าไปอุดหนุนซะเลย เจ้าของร้านเป็นคุณลุงแนวมากๆ ตกเย็นเราก็นั่งดื่มและทานไอศรีมกันที่บาร์หน้าสแควร์ใหญ่ๆ ฟังดนตรีที่เล่นกันสดๆ นักท่องเที่ยว เด็กๆวิ่งเล่นกันเพลินดีค่ะ ผู้เขียนหวังว่าการพาเที่ยวครั้งนี้จะถูกใจผู้อ่านบ้างนะคะ น่าจะเหมาะกะคนรักวิถี slow life ผู้เขียนเดินเล่นไม่เบื่อเลยค่ะ

 

World Expo Milan ผู้รักอาหารไม่ควรพลาด

image.php

งานยักษ์ งานระดับนานาชาติที่ชาวโลกเฝ้าจับตามองกันมานาน themeของงานคือ Feeding the Planet, Energy for Life ในที่สุดก็เปิดให้เข้าชมได้ทันในวันที่ 1 พ.ค. เป็นที่เรียบร้อย จะว่ากันจริงๆก็คงไม่ถึงกะเรียบร้อยดีนะคะ ระหว่างการรอคอยวันเปิดงานนี้ ก็มีเรื่องให้ผู้คนถกกันมามาก ตั้งแต่ข่าวที่ว่า “ทำไม่เสร็จ” จนมีผู้คนพนันกันว่า จะเปิดหรือไม่เปิด ฝรั่งที่บ้านผู้เขียนก็พูดให้ขำๆว่า เปิดสิ เปิดแน่นอน ไม่รู้จักคนอิตาเลียนซะแล้ว เวลาสร้างถนนใหม่ ถึงจะสร้างไม่ทันวันเปิด ก็ยังตัดโบว์เปิดถนนได้เลย ทั้งๆที่เพิ่งสร้างไปแค่นิดเดียว แต่ใช้งานได้เมื่อไหร่ค่อยมาว่ากันทีหลัง!!

เอ็กซ์โปเอ๋ยเอ็กซ์โป ถ้าเจ้ามีชีวิตจิตใจก็คงจะน้อยอกน้อยใจมิใช่ย่อย ถูกคนเขาค่อนแคะอยู่เรื่อยๆมาเป็นระยะๆ บ้างก็เหมือนถูกกลั่นแกล้ง มีการทำป้ายโฆษณาภาษาต่างประเทศออกมาผิดๆ ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และโปรตุเกส โชว์หราให้คนเขาหัวเราะเยาะกันตามโซเชียลต่างๆ พี่เลี่ยนเนี่ย เขามีจุดอ่อนตรงความแม่นยำ ความตรงต่อเวลา ความเป็นระบบระเบียบนั้นออกจะหาได้ยากในการทำงานของชาวอิตาเลียนค่ะ แต่จุดแข็งของเขาก็มีนะคะ ถ้าพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ อันนี้ไม่เป็นรองใครเลยทีเดียวค่ะ ก็ใครมันจะดีไปหมดเสียทุกอย่าง จริงไหมล่ะคะ

ในวันเปิดงานก็มีความวุ่นวายและน่ากลัวอยู่มิใช่น้อย ผู้อ่านคงจะได้อ่านหรือได้ดูข่าวกันแล้ว ว่ามีการประท้วงรุนแรงมากในใจกลางเมืองมิลาน อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นวันแรงงานซะด้วย ซึ่งปรกติก็จะมีการประท้วงของแรงงานที่ไม่ได้รับความยุติธรรม คนตกงานเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ต่างๆนานาอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มประชาชนที่ออกมาต่อต้าน No Expo ซึ่งเป็นประชาชน นักศึกษาชาวอิตาเลียน แถมยังมีกลุ่มชาวต่างชาติแฝงเข้ามาด้วย กลายเป็นความชุลมุนวุ่นวายและรุนแรง จับหัวจับหางไม่ค่อยถูกเลยค่ะ อย่างไรก็ดี งานเอ็กซ์โปก็คงดำเนินต่อไปด้วยดี วันต่อมาผู้คนชาวมิลานก็ออกมาช่วยกันทำความสะอาดถนน กำแพง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เมืองมิลานกลับมาเรียบร้อยดังเดิมได้ในเวลาไม่นานค่ะ

ผู้เขียนคงจะไม่พูดถึงวิธีการซื้อตั๋ว จุดประสงค์ของงาน การเดินทางหรือรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากว่าผู้อ่านหาอ่านได้ตามเวปไซต์ที่เป็นทางการได้นะคะ เช่เวปต่อไปนี้

http://www.expo2015.org/it
http://www.expo2015.org/en/participants/countries/thailand
https://www.facebook.com/thailandpavilionexpo2015

ผู้เขียนอยากจะฝากสิ่งที่ควรทราบ รู้สึกว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้กัน แม้แต่คนอิตาเลียนเองก็ตาม ว่าเวลาจะเข้างานนั้น เขามีข้อห้ามไม่ให้นำสิ่งต่างๆดังนี้เข้าไปค่ะ วัตถุมีคมต่างๆ วัตถุที่ทำจากเหล็ก ของเหลว รวมทั้งครีมบำรุงผิว ไม้เซลฟี่ จะถูกริบหน้าเกททันที จะมีเครื่องสแกนที่ทางเข้าเกทต่างๆนะคะ เหมือนเวลาจะขึ้นเครื่องบินนั่นแหละค่ะ มีคนบอกว่าเสียดาย ต้องทิ้งของหลายๆอย่าง ผู้เขียนก็เลยอยากเตือนเอาไว้นะคะ เพราะไม่เห็นว่าเขาจะบอกให้ทราบที่ไหนเลย ความเข้มงวดก็ต่างกันไปแล้วแต่เจ้าหน้าที่ๆเจอค่ะ บางคนถึงกะให้ทาลิปมันให้ดู เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม ทั้งนั้นทั้งนี้ผู้เข้าชมก็ต้องให้ความร่วมมือกันหน่อยนะคะ เนื่องจากหลังๆนี้มีการก่อการร้ายอยู่บ่อยๆในยุโรป

Thailand Pavilion เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวไทย สำเร็จสวยงามทันเวลา ได้ถูกจัดให้อยู่ใน 1 ของ pavilion ที่สวยที่สุดด้วยค่ะ มีการแสดงต่างๆเพิ่มความคึกคักให้กับงานนี้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ ใครอยากมาเที่ยวอิตาลีและถือโอกาสเข้าไปดู pavilion ต่าง มีเวลาถึงวันที่ 31 ตค. ค่ะ

ศุกร์ 13 รึจะสู้ ศุกร์ 17 (ไม่เชื่ออย่าลบหลู่)

Friday-13สองเดือนที่ผ่านมานี้ มีศุกร์ 13 ให้ชาวโลกได้ผวากันเล่นๆ ก็เพราะเดือน กพ.ของปีนี้มี 28 วัน บังคับให้ต้องมีศุกร์ 13 ในเดือนถัดมานั่นเอง สมัยก่อนผู้เขียนก็ทราบแต่ความเชื่อของชาวตะวันตกเกี่ยวกับศุกร์ 13 ว่าเป็นลางไม่ดีตามที่คนส่วนใหญ่ก็ทราบกันอยู่แล้วนะคะ ย้อนไปสิบกว่าปีก่อนโน้น พ่อแม่สามีไปเมืองไทย ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมลิฟท์โรงแรมถึงไม่มีชั้น 13 ล่ะ ผู้เขียนก็ตอบแบบงงๆ (ก็ชาวตะวันตกน่าจะรู้อยู่แล้วนี่นา) ว่าคงจะไม่มีนักท่องเที่ยวอยากจะอยู่ชั้น 13 โรงแรมก็เลยข้ามหมายเลขนี้ไป พ่อแม่สามีก็บอกว่าสำหรับพวกเขาชั้น 13 ไม่น่ากลัวอะไร อย่าให้อยู่ชั้น 17 เป็นใช้ได้ ผู้เขียนก็แอบคิดในใจว่า เอ๊ะ ยังไง?? พอมาอยู่อิตาลีได้สักพักก็เริ่มเห็นผู้คนพยายามเลี่ยงวันที่ 17 โต๊ะเบอร์ 17 โรงแรมก็ไม่มีห้องเบอร์ 17 สายการบินอิตาเลียนก็ไม่มีที่นั่งแถวที่ 17 และทราบมาว่าขนาดทางด่วนสาย A17 ยังถูกเปลี่ยนเลข เพิ่งจะมารู้ว่าคนอิตาเลียนเค้าถือว่าเลข 17 ต่างหากที่นำความโชคร้าย หรือความซวยมาให้นั่นเอง !!

ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ได้เชื่อเรื่องโชคลาง และก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าชาวตะวันตกเขาจะงมงายกันมาก แต่อยู่อิตาลีมา 15 ปี บอกได้เลยค่ะว่าคนอิตาเลียนงมงายไม่เบาเลยทีเดียว แม่สามีผู้เขียนเป็นคนนึงล่ะที่ถือมาก เธอมักจะบ่นว่า “ตื่นเช้าลืมตาดูนาฬิกาทีไร ฉันเห็นเลข 17 ทุกทีเลย ฉันก็เลยหลับตาใหม่รอให้กลายเป็นนาทีที่ 18 ค่อยลุก” ไม่ว่าแม่สามีจะทำธุระอะไร ไปไหนมาไหน เธอมักจะเห็นอะไรๆเป็นเลข 17 ไปหมด บ่นให้ฟังเสมอว่า “ฉันถึงได้โชคร้าย” ผู้เขียนแอบขำอยู่ในใจ แต่ก็คอยปลอบว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้น ลองเปลี่ยนความคิดดูสิ ว่าเลข 17 เป็นเลขดี เลขนำโชค เห็น 17 เมื่อไหร่จะได้กลายเป็นดี”

แล้วทำไมคนอิตาเลียนถึงไม่ชอบเลข 17เอาซะเลย ผู้เขียนก็ค้นพบว่ามันมีที่มาที่ไปดังนี้ค่ะ สมัยโบราณนานโพ้น ชาวโรมันจะเขียนข้อความบนหลุมศพเป็นภาษาลาตินว่า VIXI ซึ่งแปลว่า “เคยมีชีวิตอยู่” ซึ่งก็หมายความว่า “เสียชีวิตแล้ว” นั่นเองค่ะ ถ้าสลับเครื่องหมายนี้ไปมา กลายเป็น XVII ก็จะกลายเป็นเลขโรมันที่ 17 จึงได้ถือกันว่า 17 เป็นเลขแห่งความตาย นำโชคร้ายมาให้นั่นเองค่ะ นอกจากนี้ในพระคัมภีร์ใบเบิ้ลยังกล่าวว่า วันที่น้ำท่วมโลกนั้นเป็นวันที่ 17 ของเดือนที่ 2 ไปๆมาๆก็เอามาปะปนกะความเชื่อที่ว่าวันศุกร์เป็นวันที่พระเยซูสวรรคต คนอิตาเลียนจึงไม่ปลื้มวันศุกร์ที่ 17 นั่นเองค่ะ

สำหรับผู้เขียนแล้ว วันศุกร์ดีจะตายไป วันศุกร์ = วันสุข ใช่ไหมคะ ผู้อ่านทุกๆคนก็คงจะรอคอยวันศุกร์กันทุกสัปดาห์ ^_^

ฤกษ์ตั้งต้นคริสต์มาส ประดับไฟ

merry-christmas-banner

ฤดูหนาวอันหดหู่ เริ่มมีสีสันขึ้นมาให้รู้สึกครึกครื้นใจก็เพราะใกล้จะถึงเทศกาลคริสต์มาสเข้ามาทุกทีๆแล้วค่ะ ทุกบ้านทุกครัวเรือนอย่างน้อยก็ต้องมีต้นคริสต์มาสประดับไว้ในบ้านสักต้น ใครมีพื้นที่นอกบ้านก็ประดับไฟบนต้นไม้ หรือไม่ก็ตามระเบียง หน้าต่างตามชอบใจ คนไทยเราก็ชอบประดับประดา น่าจะเริ่มจัดต้นคริสต์มาสก่อนประเทศตะวันตกเสียด้วยซ้ำ คนส่วนใหญ่ที่อิตาลีจะมีวันตั้งต้นคริสต์มาส หรือวันที่ถือว่าเทศกาลคริสต์มาสได้เริ่มต้นแล้ว ก็คือวันที่ 8 ของเดือนธันวาคมนั่นเองค่ะ

วันที่ 8 นี้เป็นวันหยุดราชการ เด็กๆไปต้องไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปทำงาน กิจกรรมประดับบ้านจึงเป็นกิจกรรมที่สมาชิกทุกหน่วยสามารถลงมือช่วยกันได้ ทำไมถึงเป็นวันที่ 8 ผู้อ่านชาวคริสต์คงจะทราบสาเหตุกันแล้ว แต่ใครที่ยังไม่ทราบผู้เขียนขออธิบายตามความรู้ของตนเองนะคะ ว่าวันที่ 8 ธค. เป็นวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ เป็นวันที่เทวดาได้ปรากฏตัวเพื่อบอกกับพระแม่มารีว่า อีกไม่นานจะมาทายาทมาเกิดในท้องของท่าน แล้วพระแม่มารีก็ได้ตั้งครรภ์ขึ้นมา ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าประเทศตะวันตกอื่นๆนั้นถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลหรือไม่ แต่ชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่จะค่อนข้างรักษาประเพณี รอคอยที่จะประดับต้นคริสต์มาสและไฟภายนอกตัวบ้านในวันนี้ค่ะ

สมัยนี้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อต้นคริสต์มาสปลอมเสียมากกว่า เพราะว่าสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานหลายปี ต้นสนจริงนั้นราคาก็แพงเอาการอยู่เหมือนกัน ใช้ได้แค่ครั้งเดียวจึงไม่คุ้ม แม่สามีของผู้เขียนมักเล่าให้ฟังว่า สมัยท่านยังเด็กๆ จะพากันเข้าไปตัดต้นไม้ในป่าแล้วแบกกลับบ้านมาประดับประดา (แม่สามีของผู้เขียนอาศัยอยู่ในเขตภูเขาจึงสามารถเข้าป่าหาต้นสนได้อย่างง่ายดาย) เป็นความสนุกสนานของชาวบ้านอย่างหนึ่ง การประดับต้นคริสต์มาสนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาอะไรให้มากมาย มักจะใช้ลูกอมที่มีห่อกระดาษสีสันสดใสผูกด้ายแขวนประดับ ใช้โบว์หรืออะไรที่หาง่ายในบ้าน แต่ว่ายังไม่ถึงวันคริสต์มาสบางทีบนต้นก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะเด็กๆแอบดึงลูกอมมาอมเสียก่อน

นอกจากต้นคริสต์มาสแล้ว ชาวอิตาเลียนก็มีประเพณีในการจัดฉากพระประสูตรของพระเยซู อุปกรณ์การประดับนั้นก็หาซื้อได้ง่ายดาย มีหลายแบบ ทำจากหลายวัสดุให้เลือก ถูกแพงว่ากันไป ตามโบสถ์ก็จะให้ชาวบ้านมาจัดบ้าง มีการประกวดบ้าง ผู้เขียนชอบไปดูเพราะว่าคนจัดมักมีไอเดียดีๆ จัดได้อย่างสร้างสรรค์มาก ผู้ที่เชี่ยวชาญขึ้นมาก็จัดแบบมีกลไกเช่นตัวตุ๊กตุ่นในฉากสามารถขยับตัวได้บ้าง หรือมีลำธารที่น้ำไหล ในละแวกที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ มีร้านพิซซ่าชื่อดังแห่งหนึ่งที่ทำฉากพระประสูตรร่วมประกวดในโบสถ์ของท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี พวกเขาทำฉากบนพิซซ่า โดยใช้แป้งปั้นตัวประกอบต่างๆ บ้างก็ใช้ตัวต่อเลโก้ต่อออกมาได้สวยมาก นอกจากการตบแต่งฉากตามประเพณีแล้ว ยังมีการขายตัวตุ๊กตุ่นของคนดัง นักการเมือง นักบอล ต่างๆนานาสำหรับใครชอบทำอะไรแปลกๆแหวกแนว เมื่อหลายปีก่อนผู้เขียนเคยจัดฉากนี้ภายในเตาผิงของบ้าน รอบๆเตาผิงเป็นอิฐเป็นไม้ดูได้บรรยากาศกระท่อมดี ผู้เขียนซื้อกระดาษห่อของขวัญเป็นสีน้ำเงินลายดาวสว่างไสว นำมาตัดแปะเป็นฉากหลังให้เหมือนท้องฟ้ายามค่ำคืนที่มีดาวสวยงาม แล้วก็หาซื้อกระท่อม ตัวประกอบฉากต่างๆ พร้อมสัตว์เช่นแกะ แพะ ลา และวัว ตอนนั้นก็สนุกดีค่ะ ลุกชายผู้เขียนยังเล็กๆอยู่ก็ชอบดูมาก ตอนนี้ผู้เขียนชักจะขี้เกียจขึ้นมา ก็นำกระท่อมและตัวประกอบฉากต่างๆมาตั้งบนเฟอร์นิเจอร์ หาที่สูงๆเข้าไว้กันเจ้าแมวเหมียวของผู้เขียนมาทำลายซะหมด (ต้นคริสต์มาสเธอก็ชอบแทะเล่นค่ะ)

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยภาพการประสูติพระเยซู และขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสำราญในเทศกาลที่จะมาถึงนี้ ขอให้โชคดีกันถ้วนหน้านะคะ

presepe